ผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมในการส่งเสริมพฤติกรรมการจัดการความเครียดของผู้ว่างงาน ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
Keywords:
Empowerment, Social support, Stress management, Unemployed peopleAbstract
ภาวะว่างงานส่งผลให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้เกิดความเครียดและความคิดฆ่าตัวตายสูง การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมในการส่งเสริมพฤติกรรมการจัดการความเครียดของผู้ว่างงาน ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยใช้การวิจัยกึ่งทดลองแบบมีกลุ่มเปรียบเทียบวัดผลก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ว่างงานที่มีความเครียดระดับปานกลางขึ้นไป จำนวนรวม 64 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบกลุ่มละ 32 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมสุขศึกษา โดยการประยุกต์แนวคิดการเสริมสร้างพลังอำนาจของกิบสัน และแนวคิดแรงสนับสนุนทางสังคมของเฮาส์ กลยุทธ์ที่ใช้ในการจัดโปรแกรมสุขศึกษา ประกอบด้วย กิจกรรมกลุ่ม การชมวีดิทัศน์ การเรียนรู้จากตัวแบบ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากผู้วิจัยในการให้ความรู้เพิ่มเติม คู่มือการจัดการความเครียด การติดตามเยี่ยมบ้าน และการกระตุ้นเตือนทางโทรศัพท์ และมีการบันทึกพฤติกรรมเพื่อประเมินผลการปฏิบัติ ระยะเวลาดำเนินการ 12 สัปดาห์ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด และ ค่าสูงสุด เปรียบเทียบความแตกต่างคะแนนเฉลี่ย วิเคราะห์ด้วยสถิติ Paired Sample t-test และ Independent t-test ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลอง หลังการทดลองมีคะแนนเฉลี่ย และผลต่างของคะแนนเฉลี่ยด้านความรู้เกี่ยวกับความเครียดและการจัดการกับความเครียด การรับรู้ความสามารถตนเอง การปฏิบัติในการจัดการกับความเครียด สูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) ส่วนคะแนนเฉลี่ยของความเครียด และผลต่างของคะแนนเฉลี่ยของความเครียด น้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) จากผลการวิจัยครั้งนี้ สามารถนำไปเป็นแนวทางในการส่งเสริมพฤติกรรมการจัดการความเครียดของผู้ว่างงานได้