ปัจจัยการบริหารที่มีผลต่อการปฏิบัติงานตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนด้านการประเมินผล ของหัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน จังหวัดเพชรบูรณ์

Authors

  • สุกัญญา มีกำลัง Khon Kean University
  • ประจักร บัวผัน Khon Kean University

Keywords:

The administrative factors, Performance standards, Primary care units

Abstract

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross Sectional Descriptive Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะส่วนบุคคลและปัจจัยการบริหารที่มีผลต่อการปฏิบัติงานตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนด้านการประเมินผลของหัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน จังหวัดเพชรบูรณ์ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ หัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 164 คน คำนวณขนาดตัวอย่างโดยใช้สูตรการคำนวณขนาดตัวอย่างที่ใช้ตัวแบบการถดถอยพหุของโคเฮน ได้ขนาดตัวอย่างจำนวน 120 คน ทำการสุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบ(Systematic Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เจาะลึก โดยแบบสอบถามได้ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน และทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง 30 คน ที่จังหวัดพิจิตร เพื่อวิเคราะห์หาค่าความเที่ยงของแบบสอบถามได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาช 0.95 และแบบสัมภาษณ์เจาะลึกได้ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และใช้แบบสัมภาษณ์เจาะลึกกับกลุ่มตัวอย่างที่มีผลงานเด่นและสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนด้านการประเมินผล จำนวน 9 คน ดำเนินการเก็บรวมรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 โดยได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาทั้งหมด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน 
ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 51.7 มีอายุระหว่าง 41 – 50 ปี ร้อยละ 62.50 อายุเฉลี่ย 43 ปี (S.D.=7.59) สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 85.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 92.20 มีรายได้ระหว่าง 20,001-30,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 68.3 ระยะเวลาปฏิบัติงานในการเป็นหัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน 1-10 ปี ร้อยละ 50 (ค่าเฉลี่ย 13.08 ปี; S.D.= 9.91 ปี) ประสบการณ์ในการได้รับการประเมินมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชน 1-5 ปี ร้อยละ 75.8 (ค่าเฉลี่ย 4.18 ปี; S.D.= 1.68 ปี) ปัจจัยการบริหารในภาพรวม พบว่า ระดับปัจจัยทางการบริหารอยู่ในระดับมาก ( =3.50, S.D.= 0.61) ระดับการปฏิบัติงานตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนด้านการประเมินผลอยู่ในระดับมาก ( =3.65,S.D.=0.58) ปัจจัยคุณลักษณะส่วนบุคคล พบว่า รายได้ มีความสัมพันธ์ทางบวกระดับต่ำกับการปฏิบัติงานตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนด้านการประเมินผลของหัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน จังหวัดเพชรบูรณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=0.289, p-value0.001) ส่วนเพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในหน้าที่หัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน และประสบการณ์ที่ได้รับการประเมินมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชน ไม่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติงานตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนด้านการประเมินผล ปัจจัยการบริหารมีความสัมพันธ์ทางบวกระดับปานกลางกับการปฏิบัติงานตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนด้านการประเมินผล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.662, p-value0.001) และปัจจัยที่สามารถร่วมพยากรณ์การปฏิบัติงานตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนด้านการประเมินผลของหัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ ปัจจัยการบริหารด้านเวลา ปัจจัยการบริหารด้านวัสดุอุปกรณ์ ปัจจัยการบริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และปัจจัยคุณลักษณะส่วนบุคคลด้านรายได้ (p-value=0.048, p-value =0.003, p-value = 0.005 และ p-value = 0.047 ตามลำดับ) ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 ด้าน สามารถร่วมกันพยากรณ์การปฏิบัติงานตามมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนด้านการประเมินผลของหัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ร้อยละ 48.7 ปัญหาและอุปสรรคที่พบส่วนใหญ่ คือ ปัจจัยการบริหารด้านกำลังคนและปัจจัยการบริหารด้านงบประมาณ

Downloads

Published

2014-10-25

Issue

Section

วิทยาศาสตร์สุขภาพ