ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมคัดค้านเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี

Authors

  • ฐากูร สรวงศ์สิริ Khon Kean University
  • มณีมัย ทองอยู่ Khon Kean University

Keywords:

Social movement, Social movement organization, Tactics

Abstract

การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเงื่อนไขที่นำมาสู่การก่อเกิดและการเติบโตของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และเพื่อศึกษายุทธวิธีการเคลื่อนไหวต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี โดยมีวิธีวิจัยด้วยการใช้แบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและแบบไม่มีส่วนร่วม ตลอดจนการใช้ข้อมูลเอกสารประกอบการศึกษา
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ก่อเกิดและเติบโตขึ้นภายใต้เงื่อนไขสองประการ คือ เงื่อนไขภายในองค์กรการเคลื่อนไหวและเงื่อนไขภายนอกองค์กรการเคลื่อนไหว ในด้านเงื่อนไขภายในองค์กรการเคลื่อนไหวประกอบด้วย 1) บทบาทของนักพัฒนาเอกชนในการหนุนเสริมกระบวนการชาวบ้าน 2) การสร้างเครือข่ายและขบวนการบนพื้นฐานความสัมพันธ์แบบเครือญาติและชุมชน 3) บทบาทของแกนนำชาวบ้านในการหนุนเสริมองค์กรการเคลื่อนไหว 4) การมีอิสระขององค์กรและประชาธิปไตยภายในองค์กร รวมถึงการมีกลุ่มระดับย่อยในองค์กรการเคลื่อนไหว ซึ่งได้แปรเปลี่ยนความเห็นพ้องต้องกันของชาวบ้านที่มีต่อปัญหาและก่อให้เกิดความสามารถในการระดมทรัพยากร จนนำมาสู่การกระทำรวมหมู่และการเติบโตของขบวนการได้ อย่างไรก็ตามการก่อเกิดและเติบโตของขบวนการยังสัมพันธ์กับเงื่อนไขภายนอกองค์กรการเคลื่อนไหวอย่างแนบชิด กล่าวคือ การเคลื่อนไหวของขบวนการฯได้สัมพันธ์กับโครงสร้างโอกาสทางการเมือง ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550 ที่ได้ก่อให้เกิดสัมพันธภาพเชิงอำนาจแบบใหม่ที่ลดช่องว่างของอำนาจทางการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชนให้แคบลงอันเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างชอบธรรม และโครงสร้างโอกาสทางสังคมที่มีลักษณะที่เปิด ซึ่งได้แก่ การเติบโตขององค์กรพัฒนาเอกชนมานับตั้งแต่ ปี 2523 เป็นต้นมา ที่มีส่วนทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนหลากหลายสาขาหันมาจับงานพัฒนาและทำงานฐานล่างกับชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐมากยิ่งขึ้น และการเติบโตของภาคประชาสังคมที่มีพัฒนาการที่เข้มข้นมาอย่างต่อเนื่องนับจากช่วงหลังการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ทำให้นักวิชาการ อาจารย์ ประชาชน และองค์กรต่างๆทางสังคม ตลอดจนภาคเอกชน ต่างพากันตื่นตัวและกล้าที่จะออกมารวมกลุ่มกันตรวจสอบ ติดตามและวิพากษ์การดำเนินนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลกระทบในทางสาธารณะ ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ขบวนการชาวบ้านสามารถเคลื่อนไหวได้และเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่สามดังที่กล่าวไปข้างต้นได้เข้ามามีส่วนหนุนเสริมการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขบวนการฯเองต้องเอาชนะฝ่ายต่อต้านขบวนการเคลื่อนไหวที่โต้กลับต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการฯให้ได้ด้วย ซึ่งผลพวงที่ติดตามมาคือการก่อเกิดและเติบโตของขบวนการฯนั่นเอง
นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้มีวิธีในการสร้างอำนาจในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายด้วยยุทธวิธีการเคลื่อนไหวต่อสู้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยุทธวิธีตามช่องทางระบบการเมืองปกติ ยุทธวิธีการขัดขวางท้าทายระบบปกติ รวมทั้งการใช้วัฒนธรรมชุมชนซึ่งถือเป็นพลังอำนาจอย่างหนึ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในมือของขบวนการฯที่มีชุมชนเป็นฐานทรัพยากรสำคัญในการเคลื่อนไหว

Downloads

Published

2014-10-25

Issue

Section

มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์