การสื่อสารการตลาดและภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการซื้อน้ำผลไม้พร้อมดื่มร้อยเปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Keywords:
Marketing communication, Product image, Purchasing behaviorAbstract
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยการสื่อสารการตลาดและภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และพฤติกรรมการซื้อทั้งในปัจจุบันและในอนาคตของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,125 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way anova) การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ไคสแควร์ (Chi-Square) การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ (Pearson Correlation) และการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor Analysis)จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 18-20 ปี ศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 รายได้ต่อเดือน 4,001-6,000 บาท มีความรู้และความสนใจในผลิตภัณฑ์ในระดับปานกลาง มีระยะเวลาที่ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์มากกว่า 12 เดือน ส่วนใหญ่ซื้อเพื่อสุขภาพ/ลดความอ้วน ซื้อยี่ห้อยูนิฟมากที่สุด เพราะว่ารสชาติอร่อย รสชาติที่ซื้อส่วนใหญ่ คือ น้ำส้ม ขนาดที่ซื้อ 200-400 มล. สถานที่ซื้อคือ ร้านสะดวกซื้อ ในอนาคตซื้อเท่าเดิมเนื่องจากมีความสามารถในการซื้อได้เท่าเดิมและมีพฤติกรรมการบริโภคไม่เปลี่ยนแปลง จำนวนที่ซื้อส่วนใหญ่โดยเฉลี่ย 2 กล่อง/ครั้ง ค่าใช้จ่ายที่ซื้อโดยเฉลี่ย 57 บาท/ครั้ง และความถี่ในการซื้อส่วนใหญ่โดยเฉลี่ย 7 ครั้ง/เดือน จากการวิเคราะห์สมมติฐาน พบว่า ชั้นปีที่กำลังศึกษา ระดับความรู้ในผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ ที่แตกต่างกันมีผลต่อพฤติกรรมการซื้อด้านจำนวนที่ซื้อ ค่าใช้จ่ายในการซื้อแตกต่างกัน รายได้ที่แตกต่างกันมีผลต่อพฤติกรรมการซื้อด้านจำนวนที่ซื้อ และความถี่ในการซื้อแตกต่างกัน การสื่อสารการตลาดโดยรวมมีความสัมพันธ์กับชั้นปีที่กำลังศึกษา รสนิยม ระดับความรู้ในผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ ระดับความสนใจในผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ ระยะเวลาที่ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้และภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 และผลการวิเคราะห์ปัจจัย พบว่า ได้ปัจจัยทั้งหมด 6 ปัจจัย ซึ่งการส่งเสริมการขายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด