การประยุกต์ใช้ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน กรณีศึกษาลุ่มน้ำมูลส่วนที่ 3/5

ผู้แต่ง

  • ณัฐชนน อมาตยกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • สักรินทร์ แซ่ภู่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คำสำคัญ:

ระบบภูมิสารสนเทศ, พื้นที่น้ำท่วม, การใช้ประโยชน์ที่ดิน

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการประยุกต์ใช้ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน บริเวณลุ่มน้ำมูลส่วนที่ 3/5 ซึ่งในปัจจุบันเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังมีเส้นทางการคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อมากมาย ทำให้มีการเติบโตและขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์พื้นที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากและตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินระดับที่ 1 ที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ยกเว้นประเภทแหล่งน้ำ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมืองที่จะเจริญเติบโตในอนาคต ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่น้ำท่วมทั้ง 14 ช่วงเวลา ระหว่าง ปี พ.ศ. 2550 – 2563 มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซ้ำซากทั้งหมด 187.3 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นบริเวณพื้นที่จุดรวมของลำน้ำสองสาย คือ ลำเซบายที่ไหลลงมาจากทางทิศเหนือและแม่น้ำมูลที่ไหลมาจากทิศตะวันออก ซึ่งพื้นที่ในบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เมื่อพิจารณาร่วมกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่าพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือพื้นที่ป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นชุมชนเมืองในอนาคต ตลอดจนบริเวณพื้นที่กลางเมืองและชานเมืองที่ถูกปรับจากพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เบ็ดเตล็ดเป็นพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ในพื้นที่แหล่งน้ำที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำมูลยังมีการพัฒนาเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย

References

มงคล ลิขิตขจรเกียรติ. (2558). การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่

รับน้ำฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษา จังหวัดสมุทรปราการ. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต) .

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.

พนรัตน์ มะโน. (2560). การประยุกต์ใช้เซลลูลาร์ออโตมาตาศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของพื้นที่อำเภอศรีราชา

จังหวัดชลบุรี. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต).จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.

ภควรรณต์ โชติชัยวงศ์. (2560). ผลของการขยายตัวของเมืองที่มีต่ออุณหภูมิพื้นผิวของเมืองนครราชสีมา .(วิทยานิพนธ์ปริญญา

มหาบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บัณฑิตวิทยาลัย.

วสันต์ ออวัฒนา. (2555). การคาดการณ์แนวโน้มการใช้ประโยชน์ที่ดินในจังหวัดภูเก็ต. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต).

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, บัณฑิตวิทยาลัย.

สุภัคดิ์ กุลโท. (2555). การประมาณค่าปริมาณน้ำท่าจากข้อมูลการคาดการณ์การใช้ประโยชน์ที่ดินที่อาศัยแบบจำลอง CA-Markov

โดยแบบจำลอง SWAT: กรณีศึกษา ลุ่มน้ำห้วยตุงลุงในลุ่มน้ำมูล

Patiwat Littidej. (2019). An Analysis of Build-Up Growth Impacts to Water Stream Line of Motorway-6 Project End Point in Muaeng District of Nakhon Ratchasima Province. Journal of science and technology Mahasarakham University.VOL 38(3).301-315.

Patiwat Littidej and Nutchanat Buasri. (2019). Built-Up Growth Impacts on Digital Elevation Model and Flood Risk Susceptibility Prediction in Muaeng District, Nakhon Ratchasima (Thailand). Water 2019, 11(7).

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-08-10