การจัดอัตรากำลังพยาบาลในแผนกฉุกเฉิน กรณีศึกษาแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
Keywords:
การจัดอัตรากำลัง, การจำลองสถานการณ์, แผนกฉุกเฉิน, พยาบาลAbstract
งานวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอแนวทางการจัดอัตรากำลังพยาบาลหัวหน้าเวรและพยาบาลปฏิบัติการที่ปฏิบัติหน้าที่ในแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิผลและมีความเหมาะสมกับภาระงานที่เกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการจะถูกแบ่งประเภทตามความรุนแรงของอาการ กล่าวคือ ประเภทที่มีอาการไม่รุนแรง (ผู้ป่วยสีเขียว) ประเภทที่มีอาการรุนแรงแต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ (ผู้ป่วยสีเหลือง) และประเภทที่มีอาการวิกฤติ (ผู้ป่วยสีแดง) ในการรักษานั้น โรงพยาบาลได้แบ่งพยาบาลออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งจะถูกมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยประเภทที่ต่างกัน โดยแต่ละกลุ่มจะประกอบไปด้วยพยาบาลหัวหน้าเวร และพยาบาลปฏิบัติการ ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะมีภาระหน้าที่เฉพาะตน โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะผ่านกระบวนการให้บริการตั้งแต่การเข้ามารับบริการที่จุดวินิจฉัยอาการเบื้องต้น (triage) ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แผนกฉุกเฉิน ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทาง ได้รับการรักษา และออกจากแผนกฉุกเฉินในที่สุด ผู้วิจัยได้รวมรวมข้อมูล พัฒนาแบบจำลองสถานการณ์การให้บริการในแผนกฉุกเฉิน พบว่า พยาบาลหัวหน้าเวรในแต่ละกลุ่มจะมีภาระงานที่สูง คือ มีเวลาทำงานที่เกิดประโยชน์ (utilization) มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งมากกว่าพยาบาลปฏิบัติการอยู่มาก ผู้วิจัยจึงได้นำเสนอแนวทางการจัดอัตรากำลังพยาบาลหัวหน้าเวรและพยาบาลปฏิบัติการใหม่ เช่น พิจารณาการโอนภาระหน้าที่บางอย่างของพยาบาลหัวหน้าเวรสู่พยาบาลปฏิบัติการ การเพิ่มพยาบาลหัวหน้าเวรในกะที่พยาบาลหัวหน้าเวรมีเวลาการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด เป็นต้น ผลจากการจำลองสถานการณ์ชี้ให้โรงพยาบาลเห็นว่า โรงพยาบาลสามารถจัดอัตรากำลังพยาบาลหัวหน้าเวรและพยาบาลปฏิบัติการใหม่ซึ่งจะสอดคล้องกับภาระงานโดยรวมในแต่ละกะมากยิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำของภาระงานของพยาบาลแต่ละตำแหน่ง และยังสามารถให้บริการผู้ป่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย