การทำนายมลพิษทางอากาศจากทางพิเศษในกรุงเทพมหานครด้วยแบบจำลองเชิงสถิติ และการจำลองเหตุการณ์แบบมอนติคาร์โล
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงสถิติของมลพิษทางอากาศริมทางพิเศษในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ CO NO2 และ O3 กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เชิงสถิติสำหรับทำนายค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากทางพิเศษโดยวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ความไม่แน่นอนและความอ่อนไหวโดยใช้วิธีการจำลองเหตุการณ์แบบมอนติคาร์โล ผลการศึกษาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พบว่า มลพิษทางอากาศ มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับตัวแปรปริมาณจราจรแต่ละประเภทเป็นส่วนใหญ่ และเป็นความสัมพันธ์กันแบบไม่เชิงเส้น สมการที่ดีที่สุดในการทำนายระดับความเข้มข้นของ CO NO2 และ O3 ที่ได้มีค่า R2 ในช่วง 0.444-0.797 และพบว่าตัวแปรมลพิษทางอากาศ ความเร็วลม ทิศทางลม และอุณหภูมิ จากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถช่วยอธิบายการเปลี่ยนแปลงของมลพิษทางอากาศริมทางพิเศษได้ นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ความไม่แน่นอนและความอ่อนไหวพบว่าสมการทำนายมลพิษ NO2 มีความไม่แน่นอนสูงกว่าการทำนาย O3 และ CO ส่วนการวิเคราะห์ความอ่อนไหวพบว่าปัจจัยร่วมที่มีอิทธิพลในการทำนายค่าของ 3 มลพิษ คือ ความเร็วรถ จำนวนรถยนต์นั่ง 4 ล้อ ระดับความเข้มข้นของ NO2 จากสถานีตรวจวัดใกล้เคียง ระยะห่างจากทางพิเศษ และอุณหภูมิ โดยกระบวนการพัฒนาแบบจำลองและการวิเคราะห์ที่ใช้ในการศึกษานี้สามารถนำไปใช้ในการศึกษามลพิษทางอากาศในโครงการทางพิเศษสายอื่นๆ หรือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการลักษณะที่ใกล้เคียงกันได้
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิศวกรรมสารฉบับวิจัยและพัฒนา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์