การจัดสรรทรัพยากรแบบกลุ่มคนงานเฉพาะและการใช้คนงานร่วมกันในงานก่อสร้างที่มีรูปแบบซ้ำ ๆ กัน
Main Article Content
บทคัดย่อ
ในงานก่อสร้างที่มีรูปแบบการทำงานที่ซ้ำๆ กัน การวางแผนงานก่อสร้างเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมและบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีวิธีการวางแผนงานก่อสร้างที่รูปแบบการทำงานซ้ำๆ กันหลายวิธี ได้แก่ วิธี Line of Balance (LOB) Linear Scheduling Method (LSM) และ Repetitive Scheduling Method (RSM) ซึ่งวิธีเหล่านี้มักใช้ร่วมกับการจัดสรรทรัพยากรที่มีการกำหนดกลุ่มคนงานเฉพาะในแต่ละกิจกรรม (Dedicated Resource Assignment) ส่วนวิธีเส้นทางวิกฤต (CPM) สามารถประยุกต์ร่วมกับวิธีการจัดสรรทรัพยากรแบบ Dedicated Resource Assignment และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Pooled Resource Assignment) โดยมีทรัพยากรรวมไว้ที่ส่วนกลางและแต่ละกิจกรรมสามารถดึงทรัพยากรจากส่วนกลางนี้ไปใช้ บทความนี้ได้ทำการเปรียบเทียบวิธีการจัดสรรทรัพยากรระหว่าง Dedicated Resource Assignment และ Pooled Resource Assignment สำหรับโครงการก่อสร้างที่มีรูปแบบซ้ำๆกัน เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบของอัตราการผลิตที่มีต่อระยะเวลาโครงการ (Project Duration) ระยะเวลารอคอยของคนงานระหว่างกิจกรรม (Waiting Time) และผลิตภัณฑ์ระหว่างก่อสร้าง (Work In Process) ผลที่ได้พบว่าการวางแผนงานก่อสร้างที่มีรูปแบบการทำงานซ้ำๆกัน สามารถขจัดระยะเวลารอคอยของคนงานแต่อาจก่อให้เกิดระยะเวลารอคอยของผลิตภัณฑ์ระหว่างก่อสร้าง ในขณะที่การวางแผนงานโดยกิจกรรมเริ่มงานได้เร็วที่สุดร่วมกับการจัดสรรทรัพยากรแบบ Dedicated Resource Assignment อาจก่อให้เกิดระยะเวลารอคอยของคนงาน แต่ไม่เกิดระยะเวลารอคอยของผลิตภัณฑ์ระหว่างก่อสร้าง ในทั้งสองกรณีพบว่าเมื่อไม่พิจารณาถึงผลกระทบของการเรียนรู้ (Learning Effect) การจัดสรรทรัพยากรแบบ Pooled Resource Assignment ร่วมกับการวางแผนงานโดยกิจกรรมเริ่มงานได้เร็วที่สุด ให้ระยะเวลาโครงการที่สั้นกว่า และมีอัตราการผลิตที่สูงกว่า
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิศวกรรมสารฉบับวิจัยและพัฒนา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์