จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมการตีพิมพ์ของวารสาร วารสารวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นวารสารทางวิชาการจัดพิมพ์ฉบับแรกในเดือนมกราคม พ.ศ.2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและองค์ความรู้ที่น่าสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิศวกรรม โดยมีการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งผลงานวิชาการ และผลงานวิจัยสำหรับนักศึกษา บุคลากรภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย ดังนั้น เพื่อให้การเผยแพร่บทความ ผลงานทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ จึงได้กำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติที่ดีและจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยไว้สำหรับการดำเนินงานของวารสาร ดังนี้

ส่วนที่ 1: บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

            1.1 ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์วารสารใดมาก่อน

            1.2 ในการรายงานข้อความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยนั้น ผู้นิพนธ์ต้องไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ

            1.3 ผลงานของผู้อื่นที่นำมาใช้ในผลงานของตนเองต้องมีการอ้างอิง รวมทั้งจัดทำรายการอ้างอิงไว้ท้ายบทความตามแบบฟอร์มที่วารสารกำหนดไว้

            1.4 ควรศึกษา "คำแนะนำผู้เขียน" ให้เข้าใจทั้งนี้เพื่อเขียนบทความทุกประเภทให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้

           1.5 ทุกรายชื่อที่ปรากฏในบทความต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยหรือทำบทความวิชาการจริง

           1.6 งานวิจัยที่มีแหล่งทุนสนับสนุนต้องระบุที่บทความให้ชัดเจน

           1.7 ต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (หากมี)

ส่วนที่ 2: บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)

           2.1 รับผิดชอบพิจารณาคุณภาพของบทความทุกบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร

           2.2 ไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความ แก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ

          2.3 ตัดสินใจคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้วโดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่
ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ

          2.4 ไม่รับตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว และบทความที่บรรณาธิการวารสารมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมิน  
และทีมผู้บริหารวารสาร

          2.5 ไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความเพียงเพราะความสงสัยหรือไม่แน่ใจจนกว่าจะมีหลักฐานมาพิสูจน์ข้อสงสัยนั้นๆ ก่อน

          2.6 มีการตรวจสอบบทความในด้าน การคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจังโดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น

         2.7 หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการจะหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ "ตอบรับ" หรือ "ปฏิเสธ" การตีพิมพ์บทความนั้นๆ

ส่วนที่ 3: บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

           3.1 ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ ผู้ประเมินจะต้องรักษาความลับ และไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาให้แก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง (Confidentiality)

          3.2 หลังจากได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสาร หากผู้ประเมินบทความตระหนักว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์
ตัวอย่าง เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้นิพนธ์เป็นการส่วนตัวมาก่อน หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดความลำเอียงหรือไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบ และปฏิเสธการประเมินบทความนั้นๆ ทันที

         3.3 ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่จะมีต่อสาขาวิชานั้นๆ คุณภาพของการวิเคราะห์และความเข้มขันของผลงาน ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความวิจัยและวิชาการของวารสาร

         3.4 หากผู้นิพนธ์ไม่ได้อ้างถึงผลงานวิจัยที่สำคัญๆ และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน ในการประเมินบทความนั้นๆ ผู้ประเมินควรระบุไว้ให้ นอกจากนี้หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนหรือซ้ำช้อนกับผลงานชิ้นอื่นๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วยทันที

บทความทุกเรื่องได้รับการตรวจความถูกต้องทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ข้อความและบทความ ในวารสารวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นแนวคิดของผู้เขียนมิใช่ความคิดเห็นของคณะผู้จัดทํา และมิใช่ความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ และกองบรรณาธิการไม่สงวนสิทธิ์คัดลอก แต่ให้อ้างอิงที่มา