การพัฒนาตำราว่าด้วยศาสตร์และศิลป์แห่งการเรียบเรียงบทนิพนธ์และการวิจัยเชิงคุณภาพ

Main Article Content

ชำนาญ รอดเหตุภัย

Abstract

การวิจัยเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะปรากฏว่ามีปัญหาความบกพร่องเป็นอันมากในบทนิพนธ์ประเภทผลงานทางวิชาการทั่วไป
โดยเฉพาะงานวิจัยเชิงคุณภาพประเภทวิทยานิพนธ์รวมทั้งหนังสือ และตำรา ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของ
ผลงานทางวิชาการ และเจ้าของผลงานไม่สามารถได้ประโยชน์จากผลงานทางวิชาการของตนเท่าที่ควร ผู้วิจัยจึงได้กำหนด
โครงการวิจัยเรื่องนี้ขึ้นโดยมีความมุ่งหมาย 3 ประการคือ 1) เพื่อศึกษาปัญหาในการเรียบเรียงบทนิพนธ์ประเภทต่าง ๆ
โดยเฉพาะงานวิจัยของนิสิตนักศึกษาและผู้ที่กำลังทำผลงานทางวิชาการ 2) เพื่อศึกษาประเด็นความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียบเรียงบทนิพนธ์ของผู้ที่กำลังทำผลงานทางวิชาการ และ 3) เพื่อพัฒนาตำราว่าด้วยศาสตร์และศิลป์แห่งการเรียบเรียงบทนิพนธ์ที่ผู้ประสงค์จะทำผลงานทางวิชาการสามารถนำไปใช้เป็นหลักในการเรียบเรียงผลงานของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) เก็บข้อมูลจากการวิเคราะห์เอกสาร (documentary analysis) การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) การสนทนากลุ่ม (focus group interview) และการประชุม เชิงปฏิบัติการ (workshop) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) นิสิตนักศึกษาที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก 2) ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่เคยทำผลงานทางวิชาการ และ 3) อาจารย์ที่ปรึกษา กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ และผู้ทรงคุณวุฒิผู้ประเมินผลงานทางวิชาการ

ผลการวิจัยพบว่าปัญหาความบกพร่องในผลงานทางวิชาการสามารถจำแนกได้ 3 ลักษณะ คือ 1) ความบกพร่องด้าน
รูปแบบ 2) ความบกพร่องทางด้านเนื้อหา และ 3) ความบกพร่องทางด้านการใช้ภาษา ประการแรกความบกพร่องทางด้านรูปแบบ ประกอบด้วยเรื่องการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการพิมพ์ผลงาน การจัดหน้ากระดาษการพิมพ์ ความประณีตและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการพิมพ์ การกำหนดหัวข้อและระบบเลขข้อ การพิมพ์ตาราง การแทรกภาพ รูปแบบการเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรม และการจัดทำรูปเล่ม ประการที่สอง ความบกพร่องทางด้านเนื้อหา ที่สำคัญมากคือการละเมิดลิขสิทธิ์ ความถูกต้องตามหลักวิชาการ ความน่าเชื่อถือ ความสมบูรณ์ ความชัดเจน ความเที่ยงตรง ความทันสมัย และความมีคุณค่า ประการสุดท้ายความบกพร่องทางด้านภาษา ปัญหาที่พบมากได้แก่ การใช้ภาษาผิดระดับ การใช้คำ สำนวน และโวหารผิดพลาด คลาดเคลื่อน การใช้คำและสำนวนภาษาต่างประเทศ การใช้คำทับศัพท์ การใช้ศัพท์บัญญัติ การจัดแบ่งย่อหน้า การลำดับความ การใช้เครื่องหมายวรรคตอน และการเขียนสะกดคำ เป็นต้น ปัญหาทั้งสามลักษณะดังกล่าวส่วนใหญ่ผู้ทำผลงานมักจะขาดความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และศิลปะในการเรียบเรียง

ลักษณะของตำราว่าด้วยศาสตร์และศิลป์ในการเรียบเรียงบทนิพนธ์และการวิจัยเชิงคุณภาพที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะ
พิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ทำผลงานเป็นพิเศษ กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยการยกปัญหาที่พบจากการวิจัยแต่ละ
ประเด็นพร้อมด้วยตัวอย่างมาอธิบาย แล้วให้ความรู้หรือหลักวิชาที่จำเป็นในการเรียบเรียงเรื่องเหล่านั้น พร้อมทั้งตัวอย่างการเรียบเรียงที่มีคุณภาพเพื่อประกอบคำอธิบาย

ในทุก ๆ เรื่อง องค์ความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยและพัฒนาตำราครั้งนี้จะทำให้ปัญหาในเรียบเรียงบทนิพนธ์ลดน้อยลง
เพราะมีเนื้อหาครอบคลุมการแก้ไขปัญหาความบกพร่องต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ผู้ทำผลงานทางวิชาการสามารถใช้เนื้อหาสาระของส่วนนี้เป็นหลักในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการต่อไป เพื่อประโยชน์ทั้งของตนเอง สังคม ตลอดจนประเทศชาติ

Article Details

How to Cite
รอดเหตุภัย ช. (2015). การพัฒนาตำราว่าด้วยศาสตร์และศิลป์แห่งการเรียบเรียงบทนิพนธ์และการวิจัยเชิงคุณภาพ. Interdisciplinary Research Review, 8(2), 1–16. Retrieved from https://ph02.tci-thaijo.org/index.php/jtir/article/view/42780
Section
Research Articles