กรณีศึกษา นิตยสาร Cosmopolitan กับความพึงพอใจ และการใช้ประโยชน์
Main Article Content
Abstract
กรณีการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความพึงพอใจของผู้อ่านต่อเนื้อหา และองค์ประกอบในการจัดหน้าของนิตยสารcosmopolitan 2) ศึกษาการใช้ประโยชน์ของผู้อ่านจากเนื้อหาประเภทต่าง ๆ ในนิตยสาร cosmopolitan 3) เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจที่มีต่อเนื้อหาของนิตยสาร Cosmopolitan โดยจำแนกผู้อ่านตามลักษณะประชากร และการเปิดรับสื่อ และ 4) ศึกษาการเปิดรับสื่อของผู้อ่านนิตยสาร cosmopolitan โดยกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้อ่านนิตยสาร Cosmopolitan ซึ่งเป็นสตรีอายุระหว่าง 15-30 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน โดยได้ทำการใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล สำหรับสถิติที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบสมมติฐาน คือ การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ผลการศึกษาพบว่า
1. ความพึงพอใจเนื้อหาของนิตยสาร Cosmopolitan อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อโดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ คอลัมน์แฟชั่นและความงาม คอลัมน์ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และคอลัมน์ให้ความรู้
2. ความพึงพอใจองค์ประกอบที่ใช้ในการจัดหน้าของนิตยสาร Cosmopolitan อยู่ในระดับมาก ความพึงพอใจสูงสุดคือ องค์ประกอบด้านสี รองลงมาคือ องค์ประกอบด้านภาพ และองค์ประกอบด้านตัวอักษร ตามลำดับ
3. การใช้ประโยชน์จากเนื้อหาในนิตยสาร Cosmopolitan อยู่ในระดับปานกลาง
4. ความพึงพอใจต่อเนื้อหาและองค์ประกอบที่ใช้ในการจัดหน้า การใช้ประโยชน์จากการอ่านนิตยสาร Cosmopolitan ต่างกัน พบว่า ลักษณะทางประชากร ได้แก่ อายุ สถานภาพทางสมรส ระดับการศึกษา อาชีพที่แตกต่างกัน มีผลต่อความพึงพอใจด้านเนื้อหาของนิตยสาร Cosmopolitan ด้านองค์ประกอบในการจัดหน้าของนิตยสาร Cosmopolitan และด้านการใช้ประโยชน์จากเนื้อหาในนิตยสาร Cosmopolitan ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
5. ผู้อ่านที่อ่านหรือเปิดรับนิตยสาร Cosmopolitan ที่แตกต่างกัน มีผลต่อความพึงพอใจต่อเนื้อหาของนิตยสาร Cosmopolitan ที่ต่างกัน มีผลต่อความพึงพอใจต่อองค์ประกอบในการจัดหน้าของนิตยสาร Cosmopolitan ที่ต่างกัน และมีการใช้ประโยชน์จากเนื้อหาในนิตยสารCosmopolitan ที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05