ความสุขของข้าราชการตำรวจชั้นประทวนในสังกัดตำรวจภูธรภาค 1

Main Article Content

บุญทัน พันธ์จันทร์

Abstract

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ระดับความสุขของข้าราชการตำรวจชั้นประทวน 2) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความสุขของข้าราชการตำรวจชั้นประทวน และ 3) ปัจจัยใดหรือตัวแปรใดที่มีความสัมพันธ์หรือมีผลต่อความสุขของข้าราชการตำรวจชั้นประทวนมากที่สุดและรองลงมา โดยได้สุ่มตัวอย่างตำรวจชั้นประทวนในสังกัดตำรวจภูธรภาค 1 จำนวน 400 นาย เก็บข้อมูลด้วยการแจกแบบสอบถามระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2554 และวิเคราะห์ด้วยสถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) การทดสอบค่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับตัวแปรตาม (\chi ^2-test) ค่าสัมประสิทธิ์แกมม่า (Gamma Correlation) และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis)

ผลการศึกษาพบว่า ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนในตำรวจภูธรภาค 1 มีระดับความสุขอยู่ในระดับปานกลาง คือ ร้อยละ 63.0 และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความสุขของข้าราชการตำรวจชั้นประทวนนั้นพบว่าในบรรดาปัจจัยทั้ง 6 ด้านนั้น มีปัจจัย 5 ด้าน คือ ด้านครอบครัว ด้านการงาน ด้านสุขภาพ ด้านการเห็นคุณค่าในตัวเอง และด้านศาสนา ที่มีความสัมพันธ์ต่อความสุขของข้าราชการตำรวจชั้นประทวนอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนปัจจัยด้านเศรษฐกิจไม่มีความสัมพันธ์ต่อความสุขของข้าราชการตำรวจชั้นประทวนอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความสุขของข้าราชการตำรวจชั้นประทวนมากที่สุดก็คือ ปัจจัยด้านศาสนา (.152) รองลงมาได้แก่ ปัจจัยด้านสุขภาพ (.134) ปัจจัยด้านครอบครัว (.120) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ (.118) ปัจจัยด้านการงาน (.097) และปัจจัยด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง (.068) ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยหรือตัวแปรอิสระทั้ง 6 ตัว สามารถอธิบายความแตกต่างในตัวแปรตามได้ถึงร้อยละ 35.0 (r2 = .346)

ข้อเสนอแนะของการวิจัยในครั้งนี้คือ หน่วยงานตำรวจภูธรภาคควรจัดให้มีการอบรมด้านคุณธรรมศีลธรรมเพิ่มเติม เพราะอาชีพตำรวจคลุกคลีอยู่ระหว่างคนดีกับคนไม่ดี เพื่อเป็นการนำหลักธรรมทางศาสนามาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

Article Details

How to Cite
พันธ์จันทร์ บ. (2015). ความสุขของข้าราชการตำรวจชั้นประทวนในสังกัดตำรวจภูธรภาค 1. Interdisciplinary Research Review, 8(1), 97–109. Retrieved from https://ph02.tci-thaijo.org/index.php/jtir/article/view/42865
Section
Research Articles