การศึกษาดัชนีความสุขมวลรวมในประเทศไทย ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
Main Article Content
บทคัดย่อ
ความสุขเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในของแต่ละบุคคล ซึ่งการที่จะทำให้รู้ว่าบุคคลนั้นมีความสุขเรื่องใด เบื้องต้นต้องมีการสำรวจโดยการสอบถามจากแต่ละบุคคล จึงทำให้เกิดการวัดความสุขขึ้น ในอดีตประเทศไทยได้มีการวัดความสุขหลายครั้ง และในช่วงที่ผ่านมา การวัดความสุขในประเทศ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน พบปัญหาในเรื่องของการวัดความสุขโดยใช้ปัจจัยเดิมในการสำรวจมาโดยตลอด บางระยะเวลาอาจมีการเพิ่มเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ในปัจจุบันที่อาจจะมีผลกระทบทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นหรือลดลง ส่งผลให้การสำรวจในแต่ละครั้งจะพบปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสุขในเรื่องเดิม ทั้งที่ในปัจจุบันบริบทภายในประเทศเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลความสุข ทำการเปรียบเทียบปัจจัยความสุขในประเทศ และปัจจัยความสุขสากล
งานวิจัยนี้จึงนำปัจจัยเทคโนโลยีเข้ามาพิจารณาในการวัดความสุข โดยจัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญใน 4 กลุ่มสาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สังคมศาสตร์และการศึกษา, จิตวิทยาและพัฒนาชุมชน, เศรษฐศาสตร์และวิจัยตลาด จำนวน 41 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัยซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลโดย Google Docs ใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับทัศนคติต่อปัจจัยเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผลกระทบต่อปัจจัยความสุข มีลักษณะเป็นแบบสำรวจรายการ (Checklist) และเป็นมาตรส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ตามแบบของลิเคอร์ท (Likert scale) โดยกำหนดน้ำหนักคะแนนแทนระดับความคิดเป็นของผู้ตอบแบบสำรวจ
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยความสุขในประเทศไทยครอบคลุมทุกปัจจัยของปัจจัยความสุขสากล แต่มีบางปัจจัยที่ไม่มีในการวัดความสุขสากลซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรม หรือเหตุการณ์ในประเทศที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผลกระทบต่อความสุขมากที่สุด คือ การมีบริการเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผลต่อด้านเศรษฐกิจ (ร้อยละ 80.00 ของจำนวนผู้เชี่ยวชาญ) รองลงมาคือ ความสามารถในการเข้ารับบริการของประชาชน (ร้อยละ 79.02 ของจำนวนผู้เชี่ยวชาญ) และ การมีบริการเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผลต่อธรรมาภิบาล (ร้อยละ 74.63 ของจำนวนผู้เชี่ยวชาญ) โดยรวม เทคโนโลยีสารสนเทศมีผลกระทบต่อความสุขจริง ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.29) แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวัน และควรพิจารณาใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในการวัดความสุขของประชากรได้
Article Details
References
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2548. การสำรวจความสุขคนไทย ปี 2548. ขอนแก่น: พระธรรมขันต์.
กรมสุขภาพจิต, 2552. รายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาและการทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพคนไทย Version 2007. กรุงเทพฯ: สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ดร.นพดล กรรณิกา. (2552). การศึกษาความสุขมวลรวมภายในประเทศในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักวิจัย เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัน.
ผศ.สุรพงษ์ คงสัตย์, อ. ธีรชาติ ธรรมวงค์, (2551). การหาค่าความเที่ยงตรงของแบบสอบถาม (IOC). [ออนไลน์].
ศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. (2551). สรุปผลสำรวจตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ปี 2551 และประมาณการปี 2552. [ออนไลน์].
วิดา ธรรมมณีวงศ์. (2552). ดัชนีความสุข : มองจาก ระดับล่าง (Happiness Index from the bottom). NIDA Knowledge Management. [ออนไลน์].
ภาสกร ประถมบุตร , (2553). ธรรม (ชาติ) ของมนุษย์กับเทคโนโลยี ICT. [ออนไลน์].
GNH. , 2012. [Online].
HPI/NEF., 2012. Happy Planet Index. [Online].
International Institute of Management., 2007. Global Nation Happiness (GNH) Survey. [Online].
Maslow A. H., 1970. Motivation and Personality (3rd ed.). New York, USA: Harper and Brothers.