การสืบค้นความเครียดทางสรีรวิทยาจากการตัดหญ้า

Main Article Content

พรศิริ จงกล
นพฉัตร วิริยานุกูล

Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการตอบสนองภาระงานของพนักงานตัดหญ้าในทางสรีรวิทยาและศึกษาความเจ็บปวดตามส่วนต่างๆของร่างกายของพนักงานตัดหญ้าที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน ในงานวิจัยนี้มีผู้ถูกทดสอบเป็นเพศชายจำนวน 18 คน ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานตัดหญ้าเฉลี่ย 2 ปี เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยมีดังนี้คือ 1) เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate Monitor) 2) เครื่องอิเลคโตรไมโอแกรม (Electromyogram, EMG) และ 3) แบบสอบถามในการสำรวจข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการตัดหญ้า และระดับความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้นจากการทำงานตัดหญ้า ผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพักก่อนทำงานเท่ากับ 77 ครั้งต่อนาที ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอัตราการเต้นของหัวใจในขณะปฏิบัติงานเท่ากับ 117 ครั้งต่อนาที ภาระงานเฉลี่ยของกล้ามเนื้อหลังส่วนบน(ทราพีเซียส) เท่ากับ 28.4%ของค่าการหดตัวสูงสุด (Maximum Voluntary Contraction, %MVC) ส่วนภาระงานเฉลี่ยของกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง(อิเร็คเตอร์สไปนี)เท่ากับ 15.6%MVC ผลจากการสำรวจพบว่า พนักงานมีอาการเจ็บที่บริเวณหลังส่วนล่างมากที่สุด และรองลงมาคือเจ็บที่บริเวณบ่า ผลการศึกษาได้นำมากำหนดระยะเวลาพักให้เหมาะสมโดยพนักงานตัดหญ้าปฏิบัติงาน เป็นเวลา 90 นาทีควรมีระยะเวลาในการพัก 44 นาที ซึ่งผลข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงวิธีการทำงานต่อไป

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research Article)