ผลกระทบของการปิด-เปิดเขื่อนปากมูลต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำมูล

Main Article Content

ประจักษ์ จันทร์ตรี
จุฑามาส จิตต์เจริญ

Abstract

แม่น้ำมูลเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญต่อจังหวัดอุบลราชธานีในด้านอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม งานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแม่น้ำมูล เพื่อศึกษาผลกระทบของการปิด - เปิดเขื่อนปากมูลต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลราชธานี โดยทำการเก็บตัวอย่างน้ำ 4 จุด ระยะเวลาในการเก็บตัวอย่าง 1 ปี โดยเก็บตัวอย่างทุกเดือน ทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทั้งทางด้านกายภาพ เคมีและชีวภาพ ตามวิธีมาตรฐาน APHA, AWWA และ WEF ผลการศึกษาพบว่าการปิด – เปิดเขื่อนมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำทางด้านกายภาพคือ อุณหภูมิ การนำไฟฟ้า ความขุ่น และของแข็งทั้งหมดทางด้านเคมี คือ คลอไรด์ ความกระด้างทั้งหมด แอมโมเนียไนโตรเจน ไนเตรทไนโตรเจน ฟอสเฟต และโลหะหนัก ยกเว้นตะกั่ว อย่างไรก็ตามคุณภาพน้ำส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ยกเว้นค่าบีโอดีจะมีค่าสูงเกินมาตรฐานโดยมีค่า 5 -7 mg/L เมื่อมีการปิดเขื่อน แอมโมเนีย - ไนโตรเจนมีค่าสูงอยู่ในช่วง 0.54 ± 0.03 ถึง 1.79 ± 0.11 mg/L เมื่อมีการเปิดเขื่อนและค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์มมีค่าสูง มากกว่าหรือเท่ากับ 16,000 MPN / 100 mL ในช่วงการเปิดเขื่อนในจุดที่ 1 ก่อนไหลสู่หน้าเขื่อน อย่างไรก็ตามคุณภาพของน้ำในแม่น้ำมูลโดยรวมจัดเป็นแหล่งน้ำที่มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3 ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research Article)