Publication Ethics

การดำเนินงานวารสารตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณ (Publication Ethics)
          วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่บทความจากผลงานวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความรู้แก่สังคมและประเทศชาติ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานวารสารถูกต้องตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณ (Publication Ethics) ตามประกาศศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย เรื่อง การประเมินด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI พ.ศ. 2566 ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงกำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ดี และจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยไว้สำหรับการดำเนินงานวารสาร ดังนี้ 
          1. บทความวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารจะได้รับการประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review) สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย จำนวน 3 ท่าน/บทความ และต้องมีผลการประเมินคุณภาพผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 2 ท่าน โดยผู้ทรงคุณวุฒิจะไม่ทราบชื่อผู้นิพนธ์ และผู้นิพนธ์ไม่ทราบชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ (Double-Blind Peer Review)
          2. บทความ ข้อความ ภาพประกอบ ตารางประกอบ และการอ้างอิงแหล่งที่มา ที่เผยแพร่ในวารสารเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้นิพนธ์บทความ กองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป และไม่มีส่วนรับผิดชอบใด ๆ ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์แต่เพียงผู้เดียว
          3. บทความใดที่ผู้อ่านเห็นว่าได้มีการพิมพ์ซ้ำ/ซ้ำซ้อน (Duplications/Plagiarism) หรือการคัดลอกผลงานของผู้อื่น หรือการแอบอ้างโดยปราศจากการอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างถูกต้องหรือทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานของผู้นิพนธ์บทความ สามารถแจ้งให้กองบรรณาธิการวารสารทราบเพื่อดำเนินการถอดถอน (Retracted) บทความออกจากการเผยแพร่ในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยต่อไป
          4. หากผลงานวิจัยมีการเก็บและ/หรือใช้ข้อมูลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์/หรือสัตว์ทดลอง โครงการวิจัยต้องผ่านการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และ/หรือ คณะกรรมการพิจารณาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถาบันที่มีการดำเนินการ
          5. วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่มีนโยบายเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์บทความ (Article Processing Charges, APC) ใด ๆ จากผู้นิพนธ์บทความในทุกขั้นตอนของการประเมินคุณภาพบทความและการเผยแพร่บทความ
          6. บทความที่ส่งถึงกองบรรณาธิการวารสาร กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ส่งคืนผู้นิพนธ์
 
          วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กำหนดจริยธรรมและจรรยาบรรณของบุคคลไว้ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ผลงานวิจัยตามบทบาทและหน้าที่ ได้แก่ 1. จริยธรรมของบรรณาธิการ 2. จริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ 3. จริยธรรมของผู้นิพนธ์ และ 4. จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์ เพื่อให้บทความวิจัย (Research Article) ที่ได้รับการเผยแพร่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ ดังนี้

1. จริยธรรมของบรรณาธิการ (Editor Ethics)
          บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of Editors)
          1.1 บรรณาธิการมีหน้าที่ประเมินและตัดสินใจคัดเลือกบทความที่มีคุณภาพมาเผยแพร่หลังจากผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพแล้ว โดยพิจารณาจากความใหม่ ความชัดเจน ความสำคัญ ความสมบูรณ์ และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสาร และมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความวิจัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อเผยแพร่ในวารสารที่ตนรับผิดชอบ
          1.2 บรรณาธิการต้องตรวจสอบบทความในด้านการพิมพ์ซ้ำ/ซ้ำซ้อน (Duplications/Plagiarism) หรือการคัดลอกผลงานของผู้อื่น โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้อย่างจริงจัง ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า บทความใด ๆ มีการเผยแพร่พิมพ์ซ้ำ/ซ้ำซ้อน หรือมีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ในกระบวนการประเมินคุณภาพบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมินและติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันที เพื่อขอคำชี้แจงประกอบการตอบรับหรือปฏิเสธการเผยแพร่บทความนั้น ๆ โดยหลักจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิจัยบทความที่เผยแพร่ในวารสารต้องเป็นผลงานใหม่ไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน ทั้งรูปเล่มสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และต้องเป็นบทความที่ไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น
          1.3 บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ในระหว่างช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาบทความทุกคน
          1.4 บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ และทีมผู้บริหารของหน่วยงานตนเองหรือของหน่วยงานอื่น
          1.5 บรรณาธิการต้องไม่ปฏิเสธการอนุมัติให้เผยแพร่บทความเพราะความสงสัย หรือไม่แน่ใจ หรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนด โดยต้องหาหลักฐานทางวิชาการมาพิสูจน์ความสงสัยเหล่านั้นก่อน
          1.6 บรรณาธิการต้องปฏิเสธการอนุมัติให้เผยแพร่บทความที่เคยเผยแพร่ที่อื่นมาแล้ว ทั้งในรูปแบบเล่มวารสาร (Journals) หรือบทความหลังการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการฉบับเต็ม (Proceedings) หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์

2. จริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ (Reviewer Ethics)
          บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ (Duties of Reviewers)
          2.1 ผู้ทรงคุณวุฒิต้องเสนอแนะหรือระบุผลงานวิจัยที่สำคัญและสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมินคุณภาพ ในกรณีที่ผู้นิพนธ์ไม่ได้อ้างถึงเข้าไปในการประเมินคุณภาพบทความด้วย 
          2.2 ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์ เช่น เป็นผู้ร่วมดำเนินการวิจัย หรือมีความสัมพันธ์
หรือรู้จักผู้นิพนธ์เป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่จะทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะและความคิดเห็น
อย่างอิสระได้ ถ้ามีหรือตระหนักว่าตัวเองอาจมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ ทันที
          2.3 ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนในบทความที่ส่งมารับการประเมินคุณภาพแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองบรรณาธิการวารสารตลอดช่วงระยะเวลาของการประเมินคุณภาพบทความ
          2.4 ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบ หากพบว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความมีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานของผู้อื่นโดยมีหลักฐานชัดแจ้ง
          2.5 ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความในสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญ ความใหม่ คุณค่าของเนื้อหาในบทความที่จะมีต่อสาขาวิชานั้น ๆ ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์คุณภาพและความเข้มข้นของผลงาน โดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินคุณภาพของบทความวิจัย

3. จริยธรรมของผู้นิพนธ์ (Author Ethics)
          บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)
          3.1 ผู้นิพนธ์ทุกคนที่มีชื่อปรากฏในบทความต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยจริง และต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนการทำวิจัยนี้ (ถ้ามี) ในกิตติกรรมประกาศ 
          3.2 ผู้นิพนธ์ต้องพิมพ์บทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้ในคำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์บทความวิจัย
          3.3 ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างถูกต้องทุกครั้งหากมีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในผลงานของผู้นิพนธ์ โดยผลงานเหล่านั้นต้องปรากฏอยู่ในบทความและพิมพ์เอกสารอ้างอิงท้ายบทความตามรูปแบบที่วารสารกำหนด รวมทั้งการตรวจสอบข้อมูลของเอกสารอ้างอิงอย่างรอบคอบ เช่น การใช้เครื่องหมายพิเศษต่าง ๆ การสะกดคำ ชื่อผู้แต่ง ชื่อบทความ ชื่อวารสาร เลขปีพิมพ์ เลขฉบับที่ เลขหน้า รวมถึงข้อมูลของเลข DOI และ URL กรณีที่อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์
          3.4 ผู้นิพนธ์ที่ส่งบทความเข้ารับการประเมินคุณภาพทางวิชาการ ต้องเป็นผู้รับรองผลงานนั้นว่าเป็นผลงานใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อนทั้งรูปเล่มสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวารสารฉบับอื่น
          3.5 ผู้นิพนธ์ต้องรายงานข้อมูลผลการวิจัยที่เป็นจริงซึ่งเกิดจากวิธีดำเนินการวิจัย ไม่รายงานข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่บิดเบือนข้อมูล และต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
          3.6 ผู้นิพนธ์ต้องตรวจสอบบทความในด้านการพิมพ์ซ้ำ/ซ้ำซ้อน (Duplications/Plagiarism) หรือการคัดลอกผลงานของผู้อื่น โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้อย่างจริงจัง ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า มีส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความมีการเผยแพร่ตีพิมพ์ซ้ำหรือซ้ำซ้อนกับผลงานของผู้อื่น ต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบ

4. จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์
          4.1 วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นผลงานวิจัยที่เชื่อถือได้และเกิดประโยชน์ต่อสังคม มีความสอดคล้องกับหลักจริยธรรมสากล ตลอดจนกฎหมาย ข้อบังคับและข้อกำหนดต่าง ๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ และมีแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล
          4.2 งานวิจัยที่มีการเก็บและ/หรือใช้ข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์/หรือสัตว์ทดลอง ต้องผ่านการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และ/หรือคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันที่ได้การรับรองคุณภาพและมีมาตรฐานในระดับชาติ (National Ethics Committee Accreditation System of Thailand : NECAST) และ/หรือนานาชาติ (The Strategic Initiative for Developing Capacity in Ethical Review (SIDCER) และ Forum for Ethical Review Committees in Asia and the Western Pacific (FERCAP)
          4.3 ผู้นิพนธ์บทความต้องแนบเอกสารสำเนาหนังสือรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และ/หรือหนังสือรับรองการพิจารณาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 1 ชุด หรือหนังสือรับรองโครงการวิจัยที่ได้รับการยกเว้นการพิจารณาจริยธรรมการวิจัย (Exemption Review) จำนวน 1 ชุด ถึงกองบรรณาธิการวารสารเพื่อประกอบการพิจารณาและประเมินคุณภาพทางวิชาการของบทความวิจัย