Publication Ethics
จริยธรรมของการตีพิมพ์ (Pubication Ethics)
วารสารวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ (Science and Technology Nakhon Sawan Rajabhat University Journal) เป็นวารสารที่เน้นตีพิมพ์ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพ ทั้งบทความวิจัยและบทความวิชาการ ในขอบข่ายเนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง กระบวนการการตีพิมพ์ของวารสารเป็นไปตามกระบวนการมาตรฐานการตีพิมพ์นานาชาติ การประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิเป็นแบบ double blinded คือเจ้าของบทความไม่ทราบชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่ทราบชื่อของเจ้าของบทความ ผลการประเมินเป็นไปได้ 4 ลักษณะ คือ เห็นชอบให้ตีพิมพ์โดยไม่มีการแก้ไข เห็นชอบให้ตีพิมพ์แต่ต้องแก้ไขตามข้อเสนอแนะ เห็นชอบให้มีการตีพิมพ์แต่ต้องแก้ไขและส่งกลับเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และไม่เห็นชอบให้ตีพิมพ์บทความ ดังนั้น เพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง จึงกำหนดจริยธรรมของการตีพิมพ์ไว้เป็นแนวทางการดำเนินงานของวารสาร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามหลักการ มาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์อย่างเคร่งครัด ตามบทบาทหน้าที่ดังนี้
บทบาทหน้าที่ของผู้เขียน
1. ผลงานของผู้เขียนต้องไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในรูปแบบอื่นใดในที่อื่นมาก่อน หรือไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ในวารสารอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน
2. ผู้เขียนต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น หากมีการนำข้อความของผู้อื่นมาใช้อ้างอิงหรือประกอบการเขียนบทความ ต้องอ้างอิงตามหลักเกณฑ์และจัดทำเอกสารอ้างอิงไว้ท้ายบทความให้ครบถ้วน ชัดเจน
3. ผู้เขียนต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในวารสาร
4. ผู้เขียนต้องนำเสนอข้อเท็จจริงจากการศึกษาโดยไม่มีการบิดเบือนข้อมูลหรือการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
5. ผู้เขียนต้องเขียนกิตติกรรมประกาศให้ชัดเจน รวมถึงระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนงานที่ใช้เขียนบทความในครั้งนี้ (ถ้ามี)
6. ผู้เขียนทุกคนที่มีชื่อในบทความจะต้องรับทราบและยินยอมให้ระบุชื่อของตนในบทความและยินยอมให้ส่งบทความมาพิจารณาเพื่อตีพิมพ์กับวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
7. ผู้เขียนต้องยินยอมโอนลิขสิทธิ์ให้แก่วารสารก่อนการตีพิมพ์ และไม่นำผลงานไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์กับแหล่งอื่น ๆ หลังจากที่ได้รับการตีพิมพ์กับวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว
8. หากมีการวิจัยในมนุษย์ หรือสัตว์ทดลอง ผู้เขียนจะต้องแนบหนังสือรับรองที่ได้รับอนุญาตให้ทำการวิจัยในมนุษย์ หรือสัตว์ทดลองจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หรือคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการใช้สัตว์ทดลองตามแต่กรณี และระบุหมายเลขหรือรหัสการรับรองลงในบทความ
บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ
1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบบทความทุกบทความที่ส่งเข้ามาเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์กับวารสาร โดยพิจารณาจากเนื้อหาของบทความให้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตเนื้อหาของวารสาร รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมินและคุณภาพของบทความก่อนส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิ
2. บรรณาธิการมีหน้าที่แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาคุณภาพของบทความทุกบทความ ที่มีความเชี่ยวชาญตรงหรือเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาของบทความ และไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้แต่งบทความ
3. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ หรือนำไปเป็นผลงานของตนเอง
4. บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความทุกครั้งโดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้เขียนในด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้เขียน
5. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานของผู้อื่นอย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่มีความน่าเชื่อถือ โดยหากมีหลักฐานชัดเจนว่าคัดลอกผลงานของผู้อื่น บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมินและติดต่อผู้เขียนเพื่อขอคำชี้แจงตามหลักวิชาการประกอบการพิจารณาตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์บทความนั้น
6. บรรณาธิการต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาภายในบทความและผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงไม่ปิดกั้นหรือแทรกแซงข้อมูลระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เขียน
7. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนของวารสารอย่างเคร่งครัด
บทบาทหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิ
1. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องคำนึงถึงคุณภาพของบทความเป็นหลัก โดยพิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัวและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนและบรรณาธิการ
2. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานวิชาการที่ตนเองได้ประเมิน
3. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องตระหนักว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาของผลงานวิชาการที่รับประเมินอย่างแท้จริง
4. หากผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบพบว่าบทความที่รับประเมินเป็นบทความที่คัดลอกจากผลงานชิ้นอื่น ๆ หรือมีความซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ โดยมีหลักฐานชัดเจน ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที
5. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้
โดยปรับปรุงจาก
Committee on Publication Ethics (COPE)
https://www.publicationethics.org/files/2008%20Code%20of%20Conduct.pdf