การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินกับสมดุลน้ำ ในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดด้วยแบบจำลอง Soil and Water Assessment Tool
Main Article Content
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินกับสมดุลน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินใช้ข้อมูลจากดาวเทียม LANDSAT- 5 ระบบ TM ในปี พ.ศ.2542, 2547 และ 2552 ร่วมกับแบบจำลองมาร์คอฟสำหรับคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 5 ประเภท คือ 1. พื้นที่อยู่อาศัย2. พื้นที่เกษตรกรรม3. พื้นที่ป่าไม้4. แหล่งน้ำและ 5. พื้นที่อื่นๆสำหรับการวิเคราะห์สมดุลน้ำเพื่อศึกษาศักยภาพของปริมาณน้ำต้นทุนและความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปศุสัตว์ การอุปโภคบริโภค และการรักษาสภาพธรรมชาติลำน้ำ ของบึงบอระเพ็ด ทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วยแบบจำลอง SWATและแบบจำลอง HEC 3 จากนั้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ประโยชน์ที่ดินกับสมดุลน้ำด้วยการวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคุณแบบเป็นขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต (พ.ศ. 2562) ของพื้นที่เกษตรกรรมชุมชน และพื้นที่อื่นๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนป่าไม้และแหล่งน้ำมีแนวโน้มลดลง
2. การศึกษาสมดุลน้ำในปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) พบว่า มีปริมาณน้ำที่ขาดแคลนรวมโดยเฉลี่ยเท่ากับ 65.57 ลูกบาศก์เมตร และคาดการณ์ในอนาคต (พ.ศ. 2562) พบว่ามีปริมาณน้ำที่ขาดแคลนโดยเฉลี่ยที่ 56.96 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
3. ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ประโยชน์ที่ดินกับสมดุลน้ำ พบว่า สมดุลน้ำมีความสัมพันธ์มากที่สุดกับพื้นที่เกษตรกรรมอย่างมีนัยสำคัญ