ผลการจัดการเรียนแบบใฝ่รู้ด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือที่มีผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจในการเรียนรายวิชา คอมพิวเตอร์สำหรับวิทยาศาสตร์ ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

Main Article Content

กาญจนา ยลสิริธัม

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ  (1) เปรียบเทียบพฤติกรรมการเรียนรู้ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนแบบใฝ่รู้ด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชา ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ (3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนรายวิชาคอมพิวเตอร์สำหรับวิทยาศาสตร์  ของนักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิค การเรียนแบบร่วมมือ กับเกณฑ์ร้อยละ 60 และ (4) ศึกษาความพึงพอใจในการเรียนของนักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ

                กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ห้อง 3 ที่กำลังศึกษาอยู่ในปีการศึกษา 2556 จำนวน 31 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) แผนการสอนรายวิชาการคอมพิวเตอร์สำหรับวิทยาศาสตร์ โดยใช้การจัดการเรียนแบบใฝ่รู้ด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วอยู่ในระดับเหมาะสมมาก (2) แบบประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ จำนวน 32 ข้อ มีความตรงเชิงโครงสร้างและมีความเที่ยง .81 (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 20 ข้อ มีอำนาจจำแนกระหว่าง 0.32-0.73 ความยากง่ายระหว่าง 0.32-0.77  และความเที่ยง 0.75และ (4) แบบสอบถามความพึงพอใจในการเรียน จำนวน 22 ข้อ มีความเที่ยง 0.80

                ผลการวิจัยพบว่า

                1. พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนแบบใฝ่รู้ด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

                2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคอมพิวเตอร์สำหรับวิทยาศาสตร์ ของนักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

                3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคอมพิวเตอร์สำหรับวิทยาศาสตร์ ของนักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ เท่ากับเกณฑ์ร้อยละ 60 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

                4. นักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ มีความพึงพอใจในการเรียนอยู่ในระดับมาก

Article Details

Section
บทความวิจัยในชั้นเรียน