การพัฒนาเครื่องฝานขมิ้นชันสำหรับเกษตรกรผู้แปรรูปสมุนไพร จังหวัดสุรินทร์

Main Article Content

นิรัติศักดิ์ คงทน
สหภัทร ชลาชัย
ธาริณี มีเจริญ
อุบลวรรณ สุวรรณภูสิทธิ์
ชนม์ณัฐชา กังวานศุภพันธ์

บทคัดย่อ

         งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและประเมินผลประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องฝานขมิ้นชันสำหรับเกษตรกรผู้แปรรูปสมุนไพร ซึ่งองค์ประกอบหลักของเครื่อง ได้แก่ โครงเครื่อง ชุดใบมีดฝานซึ่งสามารถปรับระยะห่างได้ ถาดป้อน และช่องทางออกวัสดุ ใช้มอเตอร์ขนาด ¼ แรงม้าเป็นต้นกำลังและส่งกำลังด้วยสายพาน โดยในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาระยะห่างของใบมีด 5 ระดับ (1 2 3 4 และ 5 มิลลิเมตร) และศึกษาค่าชี้ผลประกอบด้วยความสามารถในการทำงาน ประสิทธิภาพการฝาน เปอร์เซ็นต์สูญเสีย ความหนาของชิ้นขมิ้นชันที่ฝานได้ การใช้ไฟฟ้าของเครื่อง และอัตราการลดความชื้น


         ผลการศึกษา พบว่า เมื่อทดสอบฝานขมิ้นชันที่ระยะใบมีดฝานที่ 1 2 3 4 และ 5 มิลลิเมตร เครื่องมีค่าความสามารถในการทำงานเฉลี่ย 10.04 41.81 43.62 49.20 และ 54.85 กิโลกรัม/ชั่วโมง ตามลำดับ ค่าประสิทธิภาพการฝานเท่ากับ 84.78 81.33 66.21 65.48 และ 62.01 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์สูญเสีย 15.22 18.67 33.79 34.52 และ 37.99 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ การฝานขมิ้นชันที่ระยะใบมีด 1-5 มิลลิเมตร ค่าความหนาของขมิ้นชันมีค่าเฉลี่ย 0.94 1.98 2.99 3.97 และ 4.97 มิลลิเมตร ตามลำดับ และมีอัตราการใช้กำลังไฟฟ้าอยู่ในช่วง 513.73 – 533.82 วัตต์ นอกจากนี้ ในการทดสอบการลดความชื้นของขมิ้นชันที่ฝานได้ พบว่า ที่ระยะใบมีด 1 2 และ 3 มิลลิเมตร ขมิ้นชันที่ได้จะมีน้ำหนักลดลงมากกว่าขมิ้นชันที่ได้จากการฝานที่ระยะใบมีด 4 และ 5 มิลลิเมตร ซึ่งเครื่องฝานขมิ้นชันที่พัฒนาขึ้นนี้ เกษตรกรสามารถนำไปใช้ฝานขมิ้นชันเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรได้

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมส่งเสริมการเกษตร. (2556). องค์ความรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สู่การเป็น smart officer : สมุนไพรและเครื่องเทศ. กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กรมส่งเสริมการเกษตร. (2565). ขมิ้นชัน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.agriman.doae.go.th/home/news/2565/27turmeric.pdf. สืบค้น 31 พฤษภาคม 2566

เพลิงฟ้า เฮียงสา, สิริรัตน์ พรมทา, เสาวลักษณ์ ศรีลุนช่าง และอาภาภรณ์ จอมหล้าพีรติกุล. (2560). การพัฒนาเครื่องหั่นใบสมุนไพร. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร. 48(3 พิเศษ), 35-38.

วรเชษฐ์ ศรีประไหม, ทรงพล วิจารณ์จักร, จักรพันธ์ ชาวเหนือ, สุพรรณ ยั่งยืน และจักรมาส เลาหวณิช. (2562). การออกแบบและสร้างเครื่องหั่นสมุนไพรกึ่งอัตโนมัติ. การประชุมวิชาการเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 33 วันที่ 2-5 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 จังหวัดอุดรธานี. หน้า 1-6.

สกล นันทศรีวิวัฒน์. (2565). เครื่องหั่นขมิ้นชันเพื่อประยุกต์ใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์. วารสารวิชาการเทพสตรี I-TECH, 17(1), 16-22.

สัญญา โพธิ์วงษ์, วิรัติ อัศวานุวัตร, สมพงษ์ แซ่บ่าง และเทพรถ อนันต์สูงเนิน. (2565). การสร้างและหาประสิทธิภาพเครื่องหั่น-ซอยสมุนไพรแบบต่อเนื่อง. วารสารวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรม พระจอมเกล้าพระนครเหนือ, 13(1), 73-82.

สุภาภรณ์ สาชาติ. (2558). รายงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขมิ้นชันอย่างยั่งยืน. กรมวิชาการเกษตร.