เกี่ยวกับวารสาร
วารสารวิจัย มทร.กรุงเทพ (print) (ISSN 1906-0874) และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Online) (ISSN 2651-2130)(เป็นวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้มีการจัดทำวารสารอย่างต่อเนื่องตั้งแต่พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน ) ซึ่งเป็นวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารไทย (TCI) กลุ่มที่ 2 ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเผยแพร่เป็นราย 6 เดือน ซึ่งตีพิมพ์ปีละ 2 ฉบับ (ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – มิถุนายน และฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม) (ฉบับละ 8-15 บทความและมีการดำเนินงาน จัดพิมพ์บทความประเภทต่าง ๆ ได้แก่ บทความวิจัย (Research paper) และ บทความวิชาการ (Academic paper)
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นบทความที่สร้างองค์ความรู้และมีคุณภาพในทางวิชาการสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการอ้างอิงได้ เพราะผ่านการพิจารณากลั่นกรองและประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จากหลากหลายสถาบัน จำนวน 3 ท่าน ซึ่งเป็นการประเมินแบบไม่แสดงชื่อผู้แต่งและผู้ประเมิน (Double blinded) ก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชน จึงทำให้วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นวารสารวิชาการที่มีคุณภาพ
กองบรรณาธิการ วารสารวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จัดเผยแพร่วารสารเป็นรูปเล่มฉบับสมบูรณ์ (print) (ISSN 1906-0874) และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Online) (ISSN 2651-2130)(Online) ผ่านหน้าเว็บไซต์ของวารสารอิเล็กทรอนิกส์ https://www.tci-thaijo.org/index.php/rmutk
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแพร่บทความวิจัย (Research paper) และบทความวิชาการ (Academic paper) ที่มีคุณภาพของอาจารย์นักวิจัย นักวิชาการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ทึ่ทันสมัยในสาขา
1. Environment Chemistry
2. General Engineering
3. Applied Mathematics
4. Renewable Energy, Sustainabillity and the Environment
5. Biomaterials
2. เพื่อส่งเสริมและเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานวิจัย ทำให้เกิดผลงานวิจัยที่เข้าไปสู่การพัฒนาต่อภาคสังคม ชุมชน และนำไปประยุกต์ในการเรียนการสอนเพื่อต่อยอดและเกิดความเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัย งานวิชาการ ซึ่งนำมาสู่การเกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และตอบสนองต่อการพัฒนาเทคโนโยลีของประเทศไทย
นโยบายการรับบทความ
กองบรรณาธิการวารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มีความยินดีที่จะรับบทความจากอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในสาขา1.Environment Chemistry 2. General Engineering 3. Applied Mathematics 4. Renewable Energy, Sustainabillity and the Environment 5. Biomaterials ที่เขียนเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ซึ่งผลงานวิชาการที่ส่งมาขอตีพิมพ์ต้องไม่เคยเผยแพร่ในสิ่งพิมพ์อื่นใดมาก่อน และต้องไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวารสารอื่น
การละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ส่งบทความโดยตรง บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิและได้รับความเห็นชอบจากกองบรรณาธิการ
ข้อความที่ปรากฏอยู่ในแต่ละบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเล่มนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่าน ไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพแต่อย่างใด ความรับผิดชอบด้านเนื้อหาและการตรวจร่างบทความแต่ละบทความเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะต้องรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว
กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์มิให้นำเนื้อหา หรือข้อคิดเห็นใดๆ ของบทความในวารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาตจากกองบรรณาธิการ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสาร
จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ (Publication Ethics)
วารสารวิจัย มทร.กรุงเทพ เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานวิจัย ตลอดจน การค้นพบใหม่ ๆ จากอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ สาขาวิชา วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสาขาต่าง ๆ ที่มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ที่เกี่ยวข้องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เขียนเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ และเพี่อให้การสื่อสารทางวิชาการ เป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพโปร่งใส สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม วารสารจึงได้กำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติ จริยธรรม จรรยาบรรณ ของการตีพิมพ์เผยแพร่ ผลงานวิจัย และบทบาทหน้าที่สำหรับบุคคล 3 กลุ่ม ที่อยู่ในกระบวนการการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ได้แก่ ผู้แต่ง (Authors) บรรณาธิการวารสารและกองบรรณาธิการ (Editor and editorial team) และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Reviewers) ภายใต้การกำกับและตรวจสอบคุณภาพวารสารโดยศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) เพื่อให้วารสารมีคุณภาพตามหลักสากล และมีประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตลอดจน ผู้อ่าน แวดวงวิชาการ และสังคมโลก โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)
1. บรรณาธิการและกองบรรณธิการทำหน้าที่ตรวจสอบบทความเบื้องต้นก่อนรับเข้าสู่ระบบการพิจารณาวารสาร ประกอบด้วย การตรวจสอบความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รูปแบบการเขียนบทความ การคัดลอกบทความ ความทันสมัยและคุณภาพของบทความ และต้องเป็นบทความที่ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน แล้วจึงคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความ และรับบทความ เข้ากระบวนการประเมินบทความต่อไป
2. ในการตรวจสอบจริยธรรม และการคัดลอกบทความ บรรณาธิการและกองบรรณาธิการจะใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เช่น อักขราวิสุทธิ์ CopyCatch, Turnitin หรืออื่น ๆ ในการตรวจสอบการคัดลอกบทความ (Plagiarism) และหากพบว่ามีการคัดลอกผลงาน บรรณาธิการและกองบรรณาธิการจะติดต่อกับผู้แต่งบทความทันทีเพื่อขอคำชี้แจงประกอบการพิจารณารับหรือปฏิเสธบทความ
3. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการจะรักษาข้อมูลของผู้แต่งบทความ และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความเป็นความลับ ไม่เปิดเผยแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ และการตีพิมพ์วารสารฉบับนั้นๆ
4. บรรณาธิการจะต้องพึงรักษาไว้ซึ่งความโปร่งใส ไม่ตีพิมพ์บทความในวารสารตนเอง ไม่ใช้อคติส่วนบุคคล และต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้แต่งบทความ และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ หรือบุคคลอื่น ๆ
5. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการจะต้องวางตัวเป็นกลางในการประเมินคุณภาพของบทความ โดยใช้เหตุผลและความถูกต้องตามหลักวิชาการ ในการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วน และปฏิบัติต่อผู้แต่งบทความทุกท่านอย่างเท่าเทียมตามกฎเกณฑ์ของวารสาร
6. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการจะต้องมีเหตุผลหรือหลักฐานทางวิชาการ หรือข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ของวารสาร มาพิสูจน์ในการปฏิเสธการตีพิมพ์บทความ
7. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่ปิดกั้นหรือแทรกแซงข้อมูลระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความและผู้แต่งบทความ และต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความและผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ
8. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการจะต้องรักษามาตรฐานของวารสาร ปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนอย่างเคร่งครัด และพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร
บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
1. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ จะรักษาข้อมูลของบทความที่ส่งมาเป็นความลับ ไม่เปิดเผยแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง (Confidentiality) ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ และการตีพิมพ์วารสารฉบับนั้น ๆ
2. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องแจ้งและปฏิเสธการประเมินบทความต่อบรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสารเมื่อผู้ประเมินบทความ ตระหนักว่าตัวเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้แต่งบทความ เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักกับผู้แต่งบทความเป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้
3. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ ตามความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่ได้รับ ให้มีคุณภาพ ทันสมัย มีความเข้มข้น และองค์ความรู้จะมีต่อสาขาวิชานั้น ๆ ไม่ควรใช้ ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูล หรือหลักฐานเชิงวิชาการรองรับ มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความวิจัย
4. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความจะต้องไม่สืบหาข้อมูลผู้แต่งบทความ เนื่องจากการประเมินบทความของวารสารเป็นแบบ Double-blind review เพื่อป้องกันอคติที่จะเกิดขึ้นในการประเมิน
5. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการและกองบรรณาธิการทราบ หากพบความซ้ำซ้อน หรือมีส่วนใดของบทความมีความ เหมือนกับผลงานอื่น ๆ โดยส่งหลักฐานเชิงประจักษ์ให้กองบรรณาธิการ เพื่อประกอบการปฏิเสธการตีพิมพ์บทความ
6. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความสามารถให้ข้อเสนอแนะ หรือระบุผลงานวิจัยที่สำคัญ ทันสมัย และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน แต่ผู้แต่งไม่ได้อ้างอิงถึงเข้าไปในการประเมินบทความด้วย
7. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินจะต้องรักษาระยะเวลาในการประเมินบทความตามกรอบระยะเวลาที่วารสารกำหนดไว้ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาตีพิมพ์เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด
บทบาทและหน้าที่ของผู้แต่งบทความ (Duties of Authors)
1. ผู้แต่งบทความต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานของตัวเอง เป็นผลผลงานใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน รวมถึงไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวารสารฉบับอื่น ๆ
2. ผู้แต่งบทความต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือให้ข้อมูลที่เป็นจริง รวมถึงหลักฐานทางวิชาการตามที่วารสารร้องขอ
3. ผู้แต่งบทความต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่น หากมีการนำผลงานเหล่านั้น รวมถึงข้อความใด ๆ มาใช้ในผลงานของตัวเอง รวมทั้งจัดทำรายการ อ้างอิงท้ายบทความตามรูปแบบของวารสาร
4. ผู้แต่งบทความจะต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นไม่มีข้อความ ภาพประกอบ และตารางใด ๆ ที่เมื่อตีพิมพ์แล้วจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของวารสารฉบับอื่นๆ หรือบุคคลใด ๆ
5. ผู้แต่งบทความต้องจัดรูปแบบบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ให้ใน “คำแนะนำผู้เขียน”
6. ผู้แต่งที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยจริง รวมถึงการระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยในกิตติกรรมประกาศด้วย (ถ้ามี)
7. ผู้แต่งบทความต้องใส่อ้างอิงเชิงอรรถระบุงานประชุมวิชาการ ในกรณีที่บทความนั้นมาจากงานประชุมวิชาการ และต้อง เปลี่ยนชื่อบทความพร้อมทั้งปรับให้เป็นบทความวิจัยที่สมบูรณ์ โดยจะต้องมีเนื้อหาไม่ซ้ำซ้อนกับบทความที่นำเสนอในการประชุมวิชาการฉบับเต็ม (Proceedings)
8. ผู้แต่งบทความต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
9. ผู้แต่งบทความจะต้องยินยอมโอนลิขสิทธิ์ให้แก่วารสารก่อนการตีพิมพ์ และไม่นำผลงานไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์กับแหล่งอื่นๆ หลังจากที่ได้รับการตอบรับการตีพิมพ์กับวารสารแล้ว
10. บทความวิจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในมนุษย์ หรือ ในสัตว์ ผู้นิพนธ์จะต้องมีหนังสือรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หรือ ในสัตว์ หรือชื่ออื่นที่เกี่ยวข้อง โดยแนบไฟล์เอกสารรับรองการผ่านการพิจารณาที่มีเลขหนังสืออนุมัติ ระบุชื่อเรื่องที่อนุมัติ และวันที่รับรอง และวันหมดอายุการรับรองอย่างชัดเจน