ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในเทศบาลตำบลของไทย

Main Article Content

ดร.สมคิด สุทธิธารธวัช

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในหน่วยงานเทศบาลตำบลของไทย และ 2) หาปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในหน่วยงานเทศบาลตำบลของไทย ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ เทศบาลตำบลในประเทศตามข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2,233 แห่ง โดยได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาจำนวน 226 แห่ง จากการส่งแบบสอบถามจำนวน 800 แห่ง โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย งานวิจัยนี้วิเคราะห์ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างด้วยการวิเคราะห์แยกองค์ประกอบและทดสอบความเชื่อมั่นของเครื่องมือด้วยการหาค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค สถิติที่ใช้ในงานวิจัยได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้ในการหาปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในเทศบาล คือ การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้นตอน การศึกษาถึงปัจจัยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในหน่วยงานเทศบาลตำบลของไทยภายใต้แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการรับรู้ความเสี่ยงและความปลอดภัย ทฤษฎีสถาบัน ทฤษฎีการพึ่งพาทรัพยากร  และทฤษฎีการยอมรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ 


            ผลการวิจัยพบว่า


            1) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 66.8 อายุผู้ตอบแบบสอบถามมากที่สุด คือ อายุ 50 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 47.3 และสำเร็จการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาโท คิดเป็นร้อยละ 69.9 หน่วยงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 28.8 ปัจจุบันทุกเทศบาลมีการใช้อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ในการดำเนินงาน และส่วนใหญ่หน่วยงานเป็นเจ้าของเว็บไซต์ คิดเป็นร้อยละ 81.4  การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ภายในเทศบาลตำบล พบว่า ระบบที่มีค่าเฉลี่ยของการใช้มากที่สุด คือ งานทะเบียนราษฎร์ อยู่ในระดับมีใช้อยู่และใช้งานได้สมบูรณ์ ( ค่าเฉลี่ย=5.65, SD=1.79) รองลงมาคือ ระบบบัญชี การเงิน การคลัง อยู่ในระดับมีใช้อยู่และใช้งานได้สมบูรณ์ ( ค่าเฉลี่ย=5.25, SD=1.51) สำหรับระบบที่มีการใช้น้อยที่สุด คือ ระบบการจัดการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม อยู่ในระดับไม่มีการใช้แต่มีแผนที่จะใช้ภายในปีนี้ (ค่าเฉลี่ย =3.17, SD=2.01)


            2) ปัจจัยด้านลักษณะของเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่า เทคโนโลยีสารสนเทศที่หน่วยงานนำมาใช้มีความเข้ากันได้กับโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาลตำบลอยู่ในระดับเห็นด้วย ( ค่าเฉลี่ย=5.59, SD=0.82) ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบอยู่ในระดับคาดหวังมาก ( =5.54, SD=0.95) ความซับซ้อนของเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ในระดับค่อนข้างเห็นด้วย ( ค่าเฉลี่ย=4.45, SD=1.33) และค่าใช้จ่ายของเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ในระดับเฉย ๆ ( ค่าเฉลี่ย=4.14, SD=1.45) ปัจจัยด้านลักษณะขององค์กร พบว่า ความมุ่งมั่นของผู้บริหารอยู่ในระดับค่อนข้างเห็นด้วย ( ค่าเฉลี่ย=4.68, SD=1.09) และความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่หน่วยงานใช้อยู่ในค่อนข้างเห็นด้วย ( ค่าเฉลี่ย=4.92, SD=1.09)  ปัจจัยด้านแรงกดดันจากสถาบัน พบว่า การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของเทศบาลใกล้เคียงอยู่ในระดับค่อนข้างเห็นด้วย ( ค่าเฉลี่ย=4.59, SD=1.19) การรับรู้ถึงความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ในระดับสำคัญพอสมควร ( ค่าเฉลี่ย=5.47, SD=1.02) และการได้รับความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในระดับได้รับน้อย (ปีละ 2 - 3 ครั้ง) ( ค่าเฉลี่ย=2.63, SD=1.42) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในเทศบาลตำบลของไทยที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 มี 4 ปัจจัย คือ 1) ความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ 2) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของเทศบาลใกล้เคียง  3) การได้รับความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเทคโนโลยีสารสนเทศ
และ 4) การรับรู้ถึงความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

Article Details

บท
บทความวิจัย