การพัฒนาครูแกนนำโรงเรียนประชารัฐ โดยการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศกับการจัดการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21 ด้วยกระบวนการนิเทศแบบชี้แนะและการสร้างระบบพี่เลี้ยง

Main Article Content

ปาริชาติ เภสัชชา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูแกนนำโรงเรียนประชารัฐ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 ในการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยใช้กระบวนการนิเทศแบบชี้แนะและการสร้างระบบพี่เลี้ยง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครูแกนนำโรงเรียนประชารัฐ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนละ 4 คน รวมทั้งสิ้น 112 คน ได้มาโดยเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selected) มีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้มี 2 ประเภท ได้แก่ 1) เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมได้แก่ หลักสูตรการพัฒนาครูแกนนำโรงเรียนประชารัฐ ในการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินสมรรถนะ แบบสังเกตการสอน แนวทางการสนทนากลุ่มครู แบบสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติพื้นฐานในการวิเคราะห์ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (content analysis) ผลการดำเนินการวิจัย พบว่า


  1. ครูแกนนำโรงเรียนประชารัฐมีความต้องการพัฒนาการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการจัดการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ เน้นกระบวนการที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมหรือร่วมลงมือปฏิบัติ หรือสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยการบูรณาการความรู้ใหม่กับความรู้เดิมที่มีอยู่ก่อน เน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดกระบวนการคิดภายในสมองของผู้เรียน อันจะนำไปสู่ข้อค้นพบที่ช่วยให้เด็กไทยเกิดการพัฒนาทางปัญญา

  2. ผลการประเมินสมรรถนะการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของครูแกนนำโรงเรียนประชารัฐ ประเมินโดยนักวิจัยและทีมวิทยากร ภาพรวมก่อนการพัฒนา
    มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 2.97 อยู่ในระดับปานกลาง หลังจากการพัฒนา มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.61 อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาความแตกต่างของค่าเฉลี่ยก่อนและหลังการพัฒนาพบว่า มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.64 และเมื่อพิจารณาเป็นรายบุคคล พบว่า ครูมีผลการประเมินสมรรถนะการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพิ่มขึ้นทุกคน

  3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า ครูแกนนำทุกคนสามารถนำความรู้ไปผลิตสื่อ แผนการจัดการเรียนรู้ สร้างชุมชนการเรียนรู้ร่วมกัน และมีสมรรถนะการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ Learning to Question, Learning to Search, Learning to Construct, Learning to Communicate, Learning to Serve

  4. ครูแกนนำโรงเรียนประชารัฐสามารถขยายผลและเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูในสถานศึกษาเดียวกันได้ครบทั้ง 28 โรงเรียน

  5. ครูที่ได้รับการพัฒนามีความพึงพอใจต่อกิจกรรมของการพัฒนา และการนำความรู้ที่ได้รับจากการพัฒนาไปใช้ประโยชน์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

เฉลิมชัย พันธ์เลิศ. (2549). การพัฒนากระบวนการเสริมสมรรถภาพการชี้แนะของนักวิชาการพี่เลี้ยง
โดยใช้การเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ในการอบรมโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน.
วิทยานิพนธ์ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ :
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2. (2559). รายงานผลการนิเทศ ติดตามและ
ประเมินผลการจัดการศึกษา.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2547).การเรียนรู้บูรณาการ: ยุทธศาสตร์ครูปฏิรูป.
กรุงเทพฯ: อุษาการพิมพ์.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2553). แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2545-2559) :
พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2555). การเรียนรู้บูรณาการ: ยุทธศาสตร์ครูปฏิรูป. กรุงเทพฯ:
อุษาการพิมพ์.
สุทธิศักดิ์ ศรีสมบูรณ์. (2548). การนิเทศแบบเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อพัฒนาสมรรถภาพการจัดการเรียนรู้
ด้วยวิธีสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ของครูประถมศึกษา. ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต
สาขาวิชาหลักสูตรและ การนิเทศ ภาควิชาหลักสูตรและการสอน
มหาวิทยาลัยศิลปากร.
อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติและคณะ. (2553). รายงานการศึกษาวิจัยรูปแบบการพัฒนาการเรียนรู้โดย
ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา.
Kermmis and McTaggart. (1990). The action research planner. (3 rd.ed.) Victoria: Brown
Prior Anderson National Library of Australia Cataloging in publication data.