แนวทางการพัฒนาการใช้กระบวนการ PLC (Professional Learning Community) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนบ้านนาอ้อม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2

Main Article Content

ทองพรรณ ปัญญาอุดมกุล

บทคัดย่อ

                   การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของการใช้กระบวน การ PLC (Professional Learning Community) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนบ้านนาอ้อม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 (2) เพื่อเสนอแนวทางพัฒนาการใช้กระบวนการ PLC เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนบ้านนาอ้อม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 เก็บรวบรวมข้อมูล โดยการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของการใช้กระบวนการ PLC โดยใช้แบบสอบถามครูผู้สอน จำนวน 12 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 9 คน  ผู้ปกครอง จำนวน 30 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 53 คน แบบสังเกตครูผู้สอนและนักเรียนขณะเรียน แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนจำนวน 12 คน นักเรียนจำนวน 15 คน และการสนทนากลุ่มเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการใช้กระบวนการ PLC ได้แก่ ตัวแทนครูผู้สอน จำนวน 3 คน ผู้บริหารการศึกษา 3 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน และศึกษานิเทศก์ จำนวน 3 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติ การแจกแจงความถี่ การหาค่าร้อยละ การหาค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาสรุปประเด็น สาระสำคัญ


              ผลการวิจัยพบว่า 


  1. สภาพปัจจุบันของการใช้กระบวนการ PLC เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนบ้านนาอ้อม  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 ในภาพรวมทุกขั้นตอน อยู่ในระดับมาก  และปัญหาการใช้กระบวนการ PLC เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนบ้านนาอ้อม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 ในภาพรวมทุกขั้นตอน อยู่ในระดับปานกลาง

  2. แนวทางพัฒนาการใช้กระบวนการ PLC เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนบ้านนาอ้อม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 ได้ผลดังนี้

                         2.1  การกำหนดเป้าหมายการพัฒนา (goal) โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักแก่คณะครูในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ สร้างเครื่องมือในการคัดกรองพฤติกรรมของนักเรียนที่เป็นปัญหา เพื่อเลือกพฤติกรรมเป้าหมายของการออกแบบการเรียนรู้ คณะกรรมการหาแนวทางร่วมกันหรือข้อตกลงร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ปกครองในกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อทำให้พฤติกรรมเป้าหมายนั้นบรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และครูร่วมมือกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร


                   2.2  การออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ (learning management strategy) โดยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และกระตุ้นให้ครูมีการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผลที่สอดคล้องกับบริบท ความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ่น มีการใช้สื่อการเรียนที่หลากหลายสามารถกระตุ้นความสนใจให้กับผู้เรียน เสริมสร้างความตระหนักให้ครูมีการพัฒนาตนเอง และแสวงหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการหรือเทคนิคการสอนอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างเครือข่ายการพัฒนาเพื่อช่วยครูสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน ครูร่วมมือกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเรียนรู้พร้อมกับเพื่อนครูเกี่ยวกับปัญหา และการแก้ไขปัญหาการจัดการเรียนเรียนรู้ทุกสัปดาห์ ส่งเสริม กระตุ้นให้ครูทุกคนได้จัดทำ และออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ให้ครบอย่างน้อย 1 หน่วยการเรียนรู้ ต่อครู 1 คน ต่อ 1 ภาคเรียน


                   2.3  การร่วมกันสะท้อนคิดเพื่อการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ (reflection for development) โดยการส่งเสริม สนับสนุนให้ครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน แบบกัลยาณมิตร ร่วมกันตรวจสอบแผน กระบวนการนำไปใช้ สร้างความสามัคคี และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน วิธีการสอน และการทำสื่อการสอน พี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ และกระตุ้นให้ครูนำผลจากการร่วมมือกันสะท้อนคิดมาปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ให้มีความสมบูรณ์                


                   2.4  ปฏิบัติการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และสังเกตการณ์กระบวนการปฏิบัติจริง (learning activities and observation) โดยการส่งเสริมให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลาย ตามที่ได้ออกแบบไว้ ใช้สื่อที่ทันสมัย เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจเรียน เกิดทักษะด้านการคิด และความคงทนของความรู้ ทำปฏิทินการปฏิบัติการสอนของครูต้นแบบ (model teacher) การสังเกตการสอนของเพื่อนครู (buddy teacher) และผู้เชี่ยวชาญ ส่งเสริมให้ครูมีการถ่ายวีดีทัศน์ขณะการจัดการเรียนรู้ สนับสนุนให้ครูทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อแก้ไขพฤติกรรมของนักเรียน และกำหนดเป้าหมายในการสังเกตการสอนให้ชัดเจน


                   2.5  การร่วมกันสะท้อนคิดการปฏิบัติการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (debrief) โดยการสร้างบรรยากาศ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูผู้สอนและผู้สังเกตการสอนควรเป็นไปแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สนุกสนาน ไม่เครียด ครูมีการบันทึกข้อเสนอแนะที่ได้จากการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อนำไปปรับแก้ไขในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งต่อไป


                  2.6  สรุปผลการเรียนรู้จากการปฏิบัติ การนำสู่การวางแผนการจัดการเรียนรู้รอบใหม่ต่อไป (Next Step) โดยการกำหนดให้มีการบันทึก จุดเด่น และจุดที่ควรพัฒนา ของการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ กระตุ้นให้ครูได้นำจุดเด่น และจุดที่ควรพัฒนา ของการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ไปใช้ในการวางแผนการจัดการเรียนรู้รอบใหม่ ก่อให้เกิดนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อไป

Article Details

How to Cite
ปัญญาอุดมกุล ท. (2020). แนวทางการพัฒนาการใช้กระบวนการ PLC (Professional Learning Community) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนบ้านนาอ้อม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 . คุรุสภาวิทยาจารย์, 1(1), 43–52. สืบค้น จาก https://ph02.tci-thaijo.org/index.php/withayajarnjournal/article/view/240048
บท
บทความวิจัย

References

เขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา พะเยา เขต 2, สำนักงาน. (2558). รายงานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ปีการศึกษา 2558. พะเยา : กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา.
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักทดสอบทางการศึกษา, สำนักงาน.
(2554). แนวทางการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายใน
ของสถานศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา เล่มที่ 1 .
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
พิเชฐ เกษวงษ์. (2556). การนำเสนอแนวทางการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพในสถานศึกษา
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2. วิทยานิพนธ์ ค.ม.
(การบริหารการศึกษา). พระนครศรีอยุธยา : มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.
พิณสุดา สิริรังธศรี. (2557). การยกระดับคุณภาพ ครูไทยในศตวรรษที่ 21. เอกสารประกอบการประชุม
วิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” (6-8 พฤษภาคม 2557).
มนตรี แย้มกสิกร. (2559). ชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ: ความท้าทายต่อการเปลี่ยนตนเองของครู Professional
Learning Community: Challenges in Self – Development of Teachers การประชุมทาง
วิชาการของคุรุสภา ประจำปี 2559 “การวิจัยนวัตกรรมการเรียนรู้และการจัดการศึกษาเพื่อ
การพัฒนาที่ยั่งยืน”. 39-46 กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.
เรวณี ชัยเชวรัตน์. (2559). บทความเรื่อง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning
Community: PLC)”. สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะคุรุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เลขาธิการคุรุสภา, สำนักงาน. (2559). การประชุมทางวิชาการของคุรุสภา ประจำปี 2559. กรุงเทพฯ :
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.
วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: ตถาตาพลับลิเคชั่นจํากัด.
. (2556). การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: ตถาตาพลับลิเคชั่นจํากัด.
สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระทรวงศึกษาธิการ. นโยบายการจัดการศึกษา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :
http://www.ben.ac.th/. สืบค้น วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560.