วิจัยอย่างไรจึงจะถูกต้อง สมบูรณ์ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์

Main Article Content

ดร.ดิเรก พรสีมา
และธัญสินี เล่าสัม

บทคัดย่อ

“ความถูกต้อง” “ความสมบูรณ์” “ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์” และ “ความเป็นประโยชน์” เป็นคุณลักษณะสำคัญที่อธิบายหรือชี้บอกคุณภาพของงานวิจัย เป็นคุณลักษณะที่กรรมการอ่านรายงานการวิจัยใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่ารายงานการวิจัยชิ้นนี้มีคุณภาพเหมาะสมที่จะให้พิมพ์เผยแพร่ ให้เป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็น (Requirement) ของการสำเร็จการศึกษา หรือให้เป็นส่วนหนึ่งของการให้มีหรือให้เลื่อนวิทยฐานะ หรือให้มีหรือให้เลื่อนตำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้นหรือไม่


          แม้ว่าการทำวิจัยจะถูกต้อง สมบูรณ์ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเจ้าของงานวิจัยไม่สามารถนำเสนอรายงานการวิจัยให้เป็นขั้นตอน กระชับ เชื่อมโยง ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน ง่ายแก่การอ่าน การเข้าใจ ผู้อ่านรายงานการวิจัยก็ไม่สามารถจะเข้าใจเนื้อหาสาระในรายงานการวิจัยได้ งานวิจัยชิ้นนั้นก็จะไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพ ดังนั้น คุณภาพของรายงานการวิจัยจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ในการตัดสินคุณภาพของงานวิจัย


          “ความถูกต้อง” “ความสมบูรณ์” “ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์” และ “ความเป็นประโยชน์” ของงานวิจัย พิจารณาจากอะไร


          โดยทั่วไป กรรมการอ่านรายงานการวิจัยจะพิจารณาจาก “ความถูกต้อง” “ความสมบูรณ์” “ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์” และ “ความเป็นประโยชน์” จากองค์ประกอบในรายงานการวิจัย ได้แก่ หัวข้อการวิจัย มูลเหตุจูงใจที่ทำให้เกิดการวิจัย วัตถุประสงค์หรือคำถามการวิจัย นิยามศัพท์เฉพาะ กรอบแนวคิดของการวิจัย (Research Conceptual Framework) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ระเบียบวิธีการวิจัยและรูปแบบวิจัย (Research Design) ข้อมูลที่ต้องใช้ ผู้ให้ข้อมูลหรือตัวอย่างหรือประชากร ความตรงและความน่าเชื่อถือของเครื่องมือวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปข้อค้นพบ การอภิปรายผล และข้อเสนอแนะในการนำข้อค้นพบไปใช้ และบรรณนุกรมหรือเอกสารอ้างอิง ซึ่งกรรมการจะพิจารณาว่าองค์ประกอบของรายงานการวิจัย โดยเริ่มจากหัวข้อการวิจัยไปจนถึงข้อเสนอแนะในการนำข้อค้นพบจาการวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งเอกสารอ้างอิง มีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ ต่อเนื่อง เชื่อมโยง เป็นเหตุเป็นผล กระชับ หรือมีการดำเนินการและนำเสนออย่างเป็นระบบ มีความตรง  และน่าเชื่อถือหรือไม่


          องค์ประกอบของรายงานการวิจัยที่ “ถูกต้อง” “สมบูรณ์” “ริเริ่มสร้างสรรค์” และ “เป็นประโยชน์” เป็นอย่างไร


          ก่อนที่จะตอบคำถามข้างต้น คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าการวิจัยคืออะไร

Article Details

บท
บทความวิชาการ